ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ คงบอกไม่ได้เลยว่า ไม่มีใครไม่รู้จัก แล้วมักจะเรียกชาเขียว ติดปากกันว่า มัทฉะ Matcha ( 抹茶 ) ซึ่งเป็นภาษาญี่ปุ่น แต่จริงๆแล้วเราเข้าใจกันผิดเล็กน้อย เพราะว่าภาษาญี่ปุ่นคำว่าชาเขียว คือ Ryokucha ( 緑茶 ) หรือในภาษาอังกฤษ คือ green tea ส่วน Matcha จริงๆแล้วคือ ชาเขียวชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นผงสีเขียว โดยผ่านขั้นตอนและการดูแลเป็นพิเศษ เพื่อทำให้มีรสชาติ หวานหอมอร่อยเป็นพิเศษ
หน้าตา มัทฉะ (Matcha) ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ ของมารูเซน
ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ (Green tea) เป็นชาที่ไม่ผ่านกระบวนการหมัก กรรมวิธีการผลิตเริ่มจากการหยุดการทำงานของเอนไซม์ Polyphenol oxidase ที่อยู่ในใบชาสดโดยการอบด้วยไอน้ำ (steaming) เพื่อทำให้เอนไซม์ polyphenol oxidase ไม่สามารถเร่งปฏิกิริยา oxidation และ polymerization ของ polyphenols ที่อยู่ในใบชาได้ เสร็จแล้วนำไปนวด (rolling) เพื่อทำให้เซลล์แตกและนวดเพื่อให้ใบชาม้วนตัว จากนั้นนำไปอบแห้ง สีของน้ำชาจึงมีสีเขียว
แผนผังแสดงกระบวนการผลิตชาที่แตกต่างกันไปตามชนิดของชา
หากเอ่ยถึง ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ ในประเทศญี่ปุ่น แน่นอนว่าเราต้องนึกถึง จังหวัดชิซูโอกะ (Shizuoka) เป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกชาเขียวมากที่สุด โดย 45% ของชาเขียวซึ่งดื่มกันในญี่ปุ่นนั้นมาจากที่นี่
ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ ที่มีชื่อเสียงมากในญี่ปุ่นมาจากจังหวัด shizuoka
ชาเขียวสามารถแบ่งออกเป็น 3 แบบหลักใหญ่ๆ ได้ดังนี้
- มัทฉะ ( Matcha ) คือ ชาเขียวผงละเอียด ที่เอาใบชามาบดด้วยโม่หินให้เกิดความร้อนน้อยที่สุดเพื่อรักษาคุณภาพและสารอาหาร แล้วเอามาละลายน้ำ
- เซนฉะ ( Sencha ) คือ ชาเขียวเป็นใบๆ แล้วเอามาชงกับน้ำ
- เกนไมฉะ ( Genmaicha ) คือ ชาเขียวที่ผสมกับข้าวคั่วญี่ปุ่น ทำให้มีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ ร้านอาหารนิยมเสิร์ฟชาแบบนี้
Genmaicha ชาเขียวที่ผสมกับข้าวคั่วญี่ปุ่น ทำให้มีกลิ่นหอม และได้รสชาติจากข้่าวคั่ว
ชาเขียว ถือว่าเป็นเครื่องดื่มประจำชาติของญี่ปุ่น แต่ที่น่าสนใจ คือ ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ มีต้นกำเนิดมาจาก ประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์ถังของจีน (ค.ศ.618-907) โดยพระญี่ปุ่นที่เดินทางกลับมาจากศึกษาพุทธศาสนาที่ประเทศจีน นำเมล็ดพันธุ์ชาจากประเทศจีนมาเพาะพันธุ์ในวัดที่ญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงแรกที่ญี่ปุ่นผลิตใบชามาเป็นยารักษาโรค และผลิตใบชาได้น้อย ทำให้ชากลายเป็นสินค้าราคาสูง สามัญชนไม่สามารถซื้อหาได้ จึงทำให้วัฒนธรรมการดื่มชาจำกัดวงอยู่แค่ในวัดและพระราชวังเท่านั้น
ต่อมาชาเริ่มเปลี่ยนฐานะจากยารักษาโรคมาเป็นเครื่องดื่มเพื่อความสุนทรีของบรรดาขุนนางและชนชั้นสูง จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 14 วัฒนธรรมการดื่มชาแบบนี้ก็ค่อยๆ แพร่ขยายออกไป จนเป็นที่นิยมในหมู่ซามูไร นักบวช และคนทั่วไป จนเกิดเป็นวัฒนธรรมการดื่มชา หรือที่รู้จักกัน คือ พิธีชงชาญี่ปุ่น นั่นเอง
ยอดใบชาเขียวญี่ปุ่นแท้
พิธีชงชาญี่ปุ่น (茶道 Chado) เป็นเอกลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีน่าสนใจมาก โดยรูปแบบการจัดพิธีชงชา มักจัดในห้องพิธีภายในบ้าน โดยผู้ชงจะใส่มัทฉะ (matcha : ผงชาสีเขียว) ลงในถ้วยชาและตักน้ำร้อนหม้อต้มมาใส่ คนด้วยฉะเซน (chasen : ไม้คนชา) จนแตกฟอง เมื่อได้ที่ก็จะยกถ้วยชาขึ้นหมุนประมาณ 3 ครั้งแล้ววางไว้ด้านหน้าผู้ดื่ม
ในพิธีชงชา จะเน้นเรื่อง ความสงบ เรียบง่าย การให้เกียรติ และไม่มีการแบ่งชนชั้น รวมไปถึงการแสดงความผูกพันระหว่างเจ้าบ้าน กับผู้มาเยือนเพื่อให้เข้าถึงจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น สังเกตได้จาก ก่อนเข้าบ้าน จะต้องมีการชมสวนก่อน เพื่อให้จิตใจสงบ ผ่อนคลาย แล้วค่อยผ่านช่องสี่เหลี่ยม ที่เข้าได้ด้วยการก้มหัวหรือคลานเข้ามา ซึ่งบ่งบอกถึงการไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ ทุกคนเท่ากันหมด ทั้งหมดนี่เป็นการทำจิตใจให้นิ่งสงบ และบริสุทธิ์ ตามหลักของศาสนาพุทธ นิกายเซน
วิธีดื่มชาในพิธีชงชา จะเริ่มจากการยกถ้วยชาขึ้นมา ด้วยมือขวาและวางลงบนฝ่ามือข้างซ้าย หมุนถ้วยชาเข้าหาตัวหลังจากดื่มเสร็จแล้วใช้ปลายนิ้วเช็ดขอบถ้วยชา และใช้ไคชิ (kaishi : กระดาษรองขนม) เช็ดนิ้ว แต่องค์ประกอบที่สำคัญของพิธีชงชาไม่ใช้แค่การชงและการดื่มชา สิ่งสำคัญอยู่ที่การชื่นชมคุณค่าและความงามของสิ่งต่างๆ เช่น ถ้วยชาเครื่องใช้ในพิธีชงชา ชื่นชมความงามของบรรยากาศรอบๆตัวและการสื่อประสานใจระหว่างเจ้าบ้านและแขก
นิยมดื่มชาพร้อมขนมทานเล่นที่วางบนไคชิ (กระดาษรองขนม)
ส่วนในประทศไทย ชาได้เข้ามามีบทบาทตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ที่มีหลักฐานเด่นชัด จะอยู่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จากจดหมายเหตุลาลูแบร์ โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่า คนไทยได้รู้จักการดื่มชาแล้ว โดยนิยมชงชาเพื่อรับแขก การดื่มชาของคนไทยสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล
เมืองไทยก็สามารถปลูกชาได้ และทางญี่ปุ่นก็มีความสนใจเป็นอย่างมาก กับไร่ชาบุญรอด ที่ singha park chiang rai
ในปัจจุบันทางบริษัทชาเขียวในญี่ปุ่น เริ่มที่จะขยายตลาดออกมาสู่เอเชียมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ มารูเซ็น (MARUZEN) ได้มาร่วมลงทุนกับบริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น ภายใต้ชื่อ MARUZEN FOODS (Thailand) CO.,LTD ซึ่งนับว่าเป็นครั้งแรกในการทำตลาดนอกประเทศญี่ปุ่น หลังจากก่อตั้งมา 70 ปี โดยทางมารูเซ็นได้เล็งประเทศไทย เพื่อแผนส่งออกประเทศในกลุ่ม AEC และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางเพราะมีทำเลที่เอื้ออำนวย โดยได้ใช้พื้นที่ปลูกชา และผลิตใบชา จากไร่บุญรอด จังหวัดเชียงราย นี่เอง
มารูเซน ญี่ปุ่น มาเปิดโรงงาน ที่ไร่บุญรอด เชียงราย (MARUZEN FOODS (Thailand) CO.,LTD)
เป็นอย่างไรบ้างกับประวัติและที่มาของ ชาเขียวญี่ปุ่นแท้ ส่วนคุณภาพ และรสชาติจะดีหรือไม่ดีนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการปลูกชาและกระบวนการผลิตที่ดีมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน ถ้าอยากรู้ว่าแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไรติดตามกันตอนต่อไปกันนะ เพราะคู่เลิฟจะพาไปดูกระบวนการผลิตชาเขียวกันถึงที่เลยทีเดียว